วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โรคไข้ฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส ( Leptospirosis )


          ข่าวจากกรมควบคุมโรค เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2555 แจ้งเตือน “หนูออฟฟิศ” เสี่ยงโรคไข้ฉี่หนูเช่นกัน การติดต่อไม่แค่เดินย่ำน้ำ อาหาร-น้ำดื่ม-การหายใจก็มีโอกาส  ติดเชื้อได้ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า “โรคไข้ฉี่หนู” หรือ “เลปโตสไปโรซิส” พบได้เฉพาะในท้องทุ่งนาหรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง “หนู” ที่อาศัยตามอาคารบ้านเรือน สำนักงานต่างๆ ก็เป็นพาหะของโรคเช่นเดียวกัน 

          สถานการณ์การระบาดของโรคไข้ฉี่หนู  ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม - 14 ธันวาคม 2554 พบผู้ป่วยทั่วประเทศจำนวน 3,699 คน เสียชีวิต 66 คน คิดเป็นอัตราป่วยเฉลี่ย 5 คนต่อประชากรแสนคน ถือว่ายังต้องพัฒนาแผนการเฝ้าระวังให้มากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ได้รับทราบความรู้เกี่ยวกับโรคและการป้องกัน เรามาทำความรู้จักโรคไข้ฉี่หนูกันดีกว่าค่ะ

att3062554172748 

โรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis)
          เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่ระบาดในคน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เลปโตสไปร่า (Leptospira) มักจะพบการระบาดในฤดูฝนเชื้อจะปะปนอยู่ตามดิน โคลน แหล่งน้ำ น้ำตก แม่น้ำ ลำคลองได้นานเป็นเดือน เคยมีรายงานว่าอยู่ได้นาน 6 เดือนในที่ที่มีน้ำท่วมขัง โดยมีปัจจัยแวดล้อมเหมาะสม เช่น มีความชื้น แสงส่องไม่ถึง มีความเป็นกรดปานกลาง

การติดต่อของโรค
         สัตว์ที่นำเชื้อได้แก่พวกสัตว์แทะ เช่น หนู โดยเฉพาะ หนูนา หนูพุก รองลงมาได้แก่ สุนัข หมู วัว ควาย สัตว์เหล่านี้อาจไม่แสดงอาการใดๆ แต่จะมีการติดเชื้อที่ท่อไต และปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะได้นานเป็นปีเลยทีเดียว เมื่อคนสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเข้าทางแผล เยื่อบุในปากหรือตา บางรายงานระบุว่าผิวหนังปกติเชื้อก็สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ คนเรารับเชื้อได้ 2 วิธี ทางตรง โดยการสัมผัสสัตว์ที่นำเชื้อ ระหว่างสัตว์ต่อสัตว์ หรือคนต่อคนโดยเพศสัมพันธ์ ทางอ้อม โดยเชื้อที่ปนในน้ำ ในดิน เข้าสู่คนทางผิวหนัง หรือเยื่อบุที่ตา ปาก จมูก
 
2-29-2012 2-24-12 PM


อาการของโรคที่สำคัญ
อาการทางคลินิกของโรคแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม

  1. กลุ่มที่ไม่มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง กลุ่มนี้อาการไม่รุนแรง หลังจากได้รับเชื้อ 10-26 วันโดยเฉลี่ย 10 วันผู้ป่วยก็จะเกิดอาการของโรค ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง อาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการอาจจะมีตั้งแต่ 1 - หลายวัน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ระยะ

    1.1) ระยะเชื้อเข้ากระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้
    - ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะทันที มักจะปวดบริเวณหน้าผากหรือหลังตา บางรายปวดบริเวณขมับทั้งสองข้าง
    - ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณน่อง โคนขา กล้ามเนื้อหลัง และมีอาการกดเจ็บกล้ามเนื้อ
    - ไข้สูง 38-40 C เยื่อบุตาแดง
    อาการต่างๆ อาจอยู่ได้ 4-7 วัน นอกจากอาการดังกล่าว ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้อง
    การตรวจร่างกายในระยะนี้ที่สำคัญจะตรวจพบ ผู้ป่วยตาแดง มีขี้ตาหรือน้ำตาไหล คอแดง มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง บางรายมีผื่นตามตัว

    1.2) ระยะร่างกายสร้างภูมิ ระยะนี้ถ้าเจาะเลือดจะพบภูมิต่อเชื้อเพิ่ม ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ขึ้นใหม่ ปวดศีรษะ คอแข็ง มีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง และมีเชื้อออกมาในปัสสาวะ
  2. กลุ่มที่มีอาการเหลือง หรืออาการรุนแรง กลุ่มนี้ไข้จะไม่หาย แต่จะเป็นมากขึ้นโดยพบมีอาการเหลือง และไตวาย มีผื่นที่เพดานปาก มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ตับและไตวาย ดีซ่าน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ อาจจะมีอาการไอ
    เป็นเลือด อาการเหลืองจะเกิดวันที่ 4 ของโรค ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตในระยะนี้หรือในต้นสัปดาห์ที่ 3 จากไตวาย
    อาการแสดงที่สำคัญ
              1. ภาวะเยื่อบุตาบวมแดงเกิดขึ้นในตาทั้งสองข้างภายใน 3 วันแรกของโรค และอยู่ได้นานตั้งแต่ 1-7 วัน อาจจะพบร่วมกับเลือดออกที่ตาขาวข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้
              2. กดเจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่อง
              3. มีเลือดออกแบบต่างๆ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น จุดเลือดออกตามผิวหนัง (petechiae) ผื่นเลือดออก (purpuric spot) เลือดออกใต้เยื่อบุตา (conjunctival haemorrhage) หรือเสมหะเป็นเลือด
              4. ผื่น อาจจะพบได้หลายแบบ ผื่นแดงราบ ผื่นแดง ผื่นลมพิษ
              5. อาการเหลือง มักเกิดวันที่ 4-6 ของโรค

638424

 การรักษา
           
ต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวดเร็ว และรับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยที่เสียชีวิต เกิดจากการมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ไอเป็นเลือด ที่รุนแรง การหายใจล้มเหลว หรือไตวาย เป็นต้นการป้องกันโรค

การป้องกันโรค
          1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสปัสสาวะจากหนู สุนัข วัว ควาย หมู
          2. ไม่ใช้แหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อโรค หรือเห็นว่ามีหนูอยู่ชุกชุม
          3. สวมเครื่องป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ท ถุงมือ ขณะต้องทำงานสัมผัสน้ำ ลุยโคลน
          4. ไม่ควรรับประทานอาหารที่ปล่อยค้างคืน โดยไม่มีภาชนะปกปิด

การควบคุมและกำจัดแหล่งรังโรค          1. กำจัดหนู ซึ่งเป็นพาหะนำโรค
          2. ปรับปรุงสุขาภิบาลที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมให้สะอาด
          3. ปิดฝาถังขยะ และหมั่นกำจัดขยะโดยเฉพาะเศษอาหาร ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
          4. พื้นคอกของสัตว์เลี้ยง ควรเป็นพื้นซีเมนต์ ผิวเรียบ ดูแลให้แห้งอยู่เสมอ ไม่ให้มีน้ำหรือปัสสาวะสัตว์ขังอยู่ ในช่วงการระบาดของโรคควรล้างและราดพื้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเสมอๆ
          5. เมื่อสัตว์เลี้ยงป่วย ต้องแจ้งให้สัตวแพทย์รักษาโดยเร็ว

ที่มา http://www.phyathai.com/phyathai/new/th/specialcenter/popup_cms_tech_detail.php?cid=95&mid=Tips&subject=%E2%C3%A4%E4%A2%E9%A9%D5%E8%CB%B9%D9%20%CB%C3%D7%CD%E0%C5%BB%E2%B5%CA%E4%BB%E2%C3%AB%D4%CA%20(Leptospirosis)