รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนอันตรายจากสบู่ดำมีสารพิษที่ทำให้เสียชีวิตได้ แต่ละปีมีรายงานผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับพิษจากการกินเมล็ดสบู่ดำ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ อายุระหว่าง 3-15 ปีที่กินด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าสารสกัดจากเมล็ดสบู่ดำมีสรรพคุณทางยา แต่มีฤทธิ์ข้างเคียงสูง
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าปัจจุบันมีการปลูกต้นสบู่ดำกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในบ้าน โรงเรียนและพื้นที่แปลงเกษตร เพื่อนำเมล็ดมาสกัดเป็นไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันดีเซล แต่ไม่ได้เตือนถึงอันตรายของสบู่ดำ ทำให้ในแต่ละปีมีรายงานผู้ที่ได้รับพิษจากการกินเมล็ดสบู่ดำจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ อายุระหว่าง 3-15 ปีที่กินด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งทุกส่วนของสบู่ดำ ทั้งใบ ยาง ผล และเมล็ดมีความเป็นพิษ โดยเฉพาะเมล็ดสบู่ดำเป็นส่วนที่มีพิษเคอซิน (curcin) มาก หากกินเมล็ดเข้าไปประมาณ 1 ชั่วโมง จะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด ในรายที่อาการรุนแรงอาจมีอาการมือและเท้าเกร็ง หายใจหอบ ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากเป็นสายพันธุ์ที่มีสารพิษสูง กินเพียง 3 เมล็ดก็เกิดอันตรายได้ สำหรับวิธี ปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากพบผู้ป่วยกินเมล็ดสบู่ดำ ให้ดื่มนมจำนวนมากๆ ทำให้อาเจียน หรือใช้ผงถ่านกัมมันต์ เพื่อดูดซับสารพิษและรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ส่วนยางสบู่ดำมีสารพิษโฟบอลเอสเทอร์ (Phorbal estor) หากน้ำยางของสบู่ดำถูกผิวหนังจะเกิดการแพ้ ระคายเคือง ปวดแสบอย่างรุนแรง ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำสบู่ทันที
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่ออีกว่า ต้นสบู่ดำ ภาคเหนือเรียกว่า ละหุ่งฮั้ว ภาคอีสานเรียก มะเยา สีหลอด ภาคใต้เรียก หงเทศ มีลักษณะเป็นไม้พุ่มสูง 3-5 เมตร มียางเหนียวสีเหลือง ผลมีรูปรี ผิวเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลแก่จะมีสีเหลืองแล้วเป็นสีน้ำตาลดำ เมื่อแก่จัดจะแตกเป็น 3 พู แต่ละพูมี 1 เมล็ด โดยสบู่ดำมีสรรพคุณใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนไทย แต่ต้องใช้โดยผู้ที่มีความรู้ การศึกษาวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าสารสกัดเอทานอลของเมล็ดสบู่ดำ เมื่อทำการทดสอบในหลอดทดลองมีฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิดที่น่าสนใจ เช่น ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอชไอวี ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสเริม นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาวิจัยทางคลินิก พบว่า ยาแคปซูลของสารสกัดแยกส่วนจากสารสกัดเอทานอลของเมล็ดสบู่ดำ ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย คือ ท้องเดิน หรือเกิดอาการซีดและแม้ว่าได้ทำการแยกส่วนสกัดย่อยลงไปอีกก็ยังพบว่ายามีผลต่อการกดภูมิต้านทานแบบผันกลับได้ในผู้ป่วยเอดส์ ดังนั้นแม้ว่าการวิจัยทางคลินิกจะยุติลงเนื่องจากพบอาการข้างเคียง แต่หากมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง โดยศึกษาการแยกสกัดสารที่ก่อให้เกิดฤทธิ์ข้างเคียงจากสารออกฤทธิ์ในเมล็ดสบู่ดำได้ รวมทั้งพัฒนาอนุพันธุ์ของสารออกฤทธิ์หรือศึกษาวิจัยในเรื่องฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ เช่น ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ฉวยโอกาส กระตุ้นภูมิต้านทาน ฯลฯ สบู่ดำก็จะเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยาสำหรับมนุษย์ต่อไป
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
21 กุมภาพันธ์ 2555
ที่มา http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=45003
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น